10 ข้อควรระวังในเครือข่ายสังคมออนไลน์
ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์มีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นทั้งการทำงานและชีวิตส่วนตัว ทำให้ผู้ขายได้ประชาสัมพันธ์สินค้าง่ายขึ้น ผู้ซื้อก็มีโอกาสเข้าถึงสินค้าได้มากขึ้น การแสดงออกทางความคิด และกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการรับรู้ข้อมูลจากผู้อื่น ก็สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว แต่ในข้อดีมักมีข้อเสียการที่เราเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วก็อาจจะเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องได้ อีกทั้งมีโอกาสสูงที่จะสูญเสียความเป็นส่วนตัวไปได้อีกด้วย เป็นการดีที่เราจะได้ป้องกันตัวและระวังภัยต่างๆ ไว้ก่อนล่วงหน้า
- คิดให้รอบคอบก่อนโพสต์ข้อมูล
อย่าลืมว่าข้อมูลต่างๆ ที่คุณโพสต์จะเปิดเผยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโพสต์ข้อมูลที่สุ่มเสี่ยงก็อาจจะส่งผลร้ายต่อตัวเราเองได้ ฉะนั้นก่อนโพสต์ทุกครั้งต้องคิดให้รอบคอบ
- ใช้ความระมัดระวังในการคลิกลิงก์ต่างๆ
หลีกเลี่ยงการคลิกลิงก์แปลกปลอมที่มากับการแชร์หรือข้อความ หรือมาจากคนที่ไม่รู้จัก หรือแม้แต่เพื่อนซึ่งใช้ภาษาในการสื่อสารที่ดูแปลกไปจากปกติ เพราะอาจเป็นลิงก์ที่นำไปสู่ไวรัสหรือช่องทางขโมยข้อมูลของเหล่าแฮกเกอร์
- พิมพ์ที่อยู่ URL ของเว็บไซด์โซเชียลเน็ตเวิร์กนั้นๆ โดยตรง
การใช้งานบนเบราว์เซอร์ให้หลีกเลี่ยงการเข้าเครือข่ายทางสังคมผ่านทางคลิกลิงก์จากผลแสดงการค้นหา หรือจากอีเมล เพราะอาจเป็น URL ปลอมที่นำเราไปยังเว็บไซต์ปลอม เพื่อหลอกเอาบัญชีผู้ใช้และ Password ได้ เช่น www.facebook.com อาจมี URL หลอกเป็น www.faeebook.com เป็นต้น
- คัดกรองคนที่ขอเป็นเพื่อน
หลีกเลี่ยงการตอบรับคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน เพราะผู้ไม่หวังดีอาจแฝงมากับคนที่ขอเข้ามาเป็นเพื่อนเรา และหากพบคนที่เป็นเพื่อนซึ่งเราไม่รู้จักและน่าสงสัยก็ควรลบออกไป
- ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
ผู้ให้บริการแต่ละรายจะกำหนดการตั้งค่าส่วนตัวไว้เพื่อไม่ให้ข้อมูล หรือสิ่งที่เราทำ หลุดออกไปยังคนที่ไม่พึงประสงค์ ดังนั้น เราควรตั้งค่าให้เพื่อนเท่านั้นที่เห็นกิจกรรมของเรา และหลีกเลี่ยงการตั้งค่าสิ่งที่เราทำให้เป็นสาธารณะ หรือคนทั่วไปเห็นได้
- ไม่แสดงข้อมูลส่วนตัวที่เป็นความลับ
ไม่ควรโพสต์บัตรประจำตัวประชาชน บัตรเครดิตลงในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบข้อความ หรือรูปภาพ เพราะแฮกเกอร์และผู้ไม่หวังดีสามารถแฝงตัวมากับกลุ่มเพื่อนที่เราอนุญาตให้เข้าชมได้
- เปิดใช้งาน Do Not Track
เพื่อป้องกันการติดตามและการเก็บข้อมูลของผู้ให้บริการ ซึ่งอาจรวมไปถึงผู้ไม่หวังดีที่ลักลอบเข้ามาขโมยข้อมูลด้วย ซึ่งปัจจุบันมีเว็บเบราว์เซอร์ที่เปิดใช้งาน Do Not Track ได้แล้ว เช่น Internet Explorer 10
- ใช้วิจารณญาณอย่างสูงในการรับข่าวสาร
อย่ารีบปักใจเชื่อข้อมูลที่เผยแพร่เข้ามาในทันที รวมทั้งการกล่าวอ้างถึงแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นๆ เพราะอาจมีการสวมรอย หรือสมอ้างจากผู้ไม่หวังดีเพื่อสร้างข่าว หรือสร้างความเสื่อมเสียต่อแหล่งที่มานั้นได้
- ดูแลและควบคุมการใช้งานของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด
สอนให้เด็กรู้จักวิเคราะห์ข้อมูล และรู้จักเล่นอย่างถูกวิธี เพราะความรู้ในโซเชียลเน็ตเวิร์กก็มีอยู่มากมาย และปัจจุบันครูอาจารย์ก็ทันสมัยจนแจ้งเรื่องต่างๆ แก่ลูกศิษย์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น Facebook หรือ Twitter กันแล้ว นอกจากนี้ อาจหาเครื่องมือในการควบคุมการใช้งานของบุตรหลายได้ เช่น โปรแกรม Windows Live Family Safety ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ไมโครซอฟต์เปิดให้ใช้งานได้ฟรีๆ นอกจากจะใช้ควบคุมการเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมได้แล้ว ยังสามารถกำหนดช่วงเวลาในการใช้คอมพิวเตอร์ และป้องกันการใช้โปรแกรม หรือเล่นเกมที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ได้รับอนุญาตได้อีกด้วย
- ตระหนักว่ามันเป็นสังคมเสรี
แม้ว่าทุกคนจะมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น แต่ทุกคำพูดและการกระทำที่ไม่เหมาะสมก็สามารถเป็นเหตุในการฟ้องร้องได้ และศาลก็อาจจะรับฟังคำร้องด้วย
เครือข่ายสังคมออนไลน์ถ้าหากเรารู้จักใช้อย่างระมัดระวังก็จะมีประโยชน์เป็นอย่างมากในด้านต่างๆ และจะช่วยให้เราสามารถสนุกสนานกับสังคมออนไลน์ได้อย่างมั่นใจมากขึ้น เพราะฉะนั้นการรอบคอบเสมอระหว่างที่ท่องเที่ยวอยู่ในโลกออนไลน์จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ครวมองข้าม
ที่มา: https://www.etda.or.th/content/social-network-security.html